ในช่วงหน้าแล้งนี้เป็นช่วงที่มะม่วงในฤดูกำลังออกดอก ติดผล และภูมิอากาศที่ร้อน ซึ่งโดยทั่วไปฤดูร้อนมักจะมีลักษณะสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของเพลี้ยจักจั่น โดยเพลี้ยจักจั่นที่พบการระบาดจะมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ตัวที่มีลำตัวสีเทาปนดำ และตัวที่มีลำตัวสีน้ำตาลปนเทา ลักษณะส่วนหัวโตและป้าน ลำตัวเรียวแหลมมาทางด้านหาง ทำให้เห็นส่วนท้องเรียวเล็ก มองดูด้านบนเหมือนรูปลิ่ม ขนาดความยาวลำตัว 5.5 – 6.5 mm. เพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ รูปร่างยาวรีสีเหลืองอ่อน จะวางไข่ตามแกนกลางใบอ่อนหรือก้านช่อดอก ปรากฏเป็นแผลเล็กๆ คล้ายมีดกรีด หลังจากวางไข่แล้วประมาณ 1-2 วัน ระยะฟักไข่ 7-10 วัน เมื่อออกเป็นตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอกและใบตัวอ่อนเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ 4 ครั้ง กินเวลา 17-19 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย การเคลื่อนไหวว่องไวตัวอ่อนมักพบอยู่เป็นกลุ่มตามช่อดอกและใบ โดยเฉพาะบริเวณโคนของก้านช่อดอกและก้านใบ เนื่องจากบริเวณโคนจะมีเยื่อบางๆ สีน้ำตาลหุ้มไว้ เมื่อแดดร้อนจัดจะหลบซ่อนอยู่ตามหลังใบ

              นายร่มไม้ นวลตา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เพลี้ยจักจั่นมะม่วง จะเข้าทำลายและเกิดความเสียหายมากที่สุดคือ ระยะที่มะม่วงกำลังออกดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยง จะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานติดตามใบ ช่อดอก ผล และรอบๆ ทรงพุ่ม ทำให้ใบมะม่วงเปียกเยิ้ม หลังจากนั้นตามใบ ช่อดอก จะถูกปกคลุมโดยเชื้อราดำ ถ้าปกคลุมมากก็จะกระทบกระเทือนต่อการสังเคราะห์แสง ใบที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงในระยะเพสลาด (ใบกึ่งอ่อนกึ่งแก่) ใบจะบิดงอโค้งลงด้านใต้ใบ ตามขอบใบจะมีอาการปลายใบแห้ง จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง หมั่นสำรวจต้นมะม่วงของตนเอง หากพบแมลงขนาดเล็กคล้ายจักจั่น กระโดดไป – มา เวลาเดินเข้าใกล้ต้นมะม่วง หรือพบน้ำเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานติดตามใบ ช่อดอก ผล และมีราดำขึ้นปกคลุม ให้ป้องกันกำจัด ดังนี้ เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนมะม่วงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ให้มีการตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิต เพราะจะช่วยการหลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่น และทำให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดีขึ้น  มีการให้น้ำฉีดล้างช่อดอกและใบ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาช่อดอกและใบดำจากโรคราได้บ้าง  ถ้าแรงอัดฉีดกระแทกดอกมะม่วงแรงเกินไป อาจทำให้ดอกหรือผลที่เริ่มติดร่วงได้ ให้มีการใช้กับดักแสงไฟ ดักตัวเต็มวัยที่บินมาเล่นไฟ และให้อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่จะช่วยทำลายเพลี้ยจั๊กจั่นมะม่วง ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน แมลงวันตาโต และแตนเบียน ซึ่งหากเกษตรกรพบการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นมะม่วง สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม และสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที

///// ภาพ/ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม