สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นลง มีฝนตก บางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกพริก ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้ง มักพบบนผลพริกที่เริ่มสุก หรือก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสี อาการเริ่มแรกเป็นจุดหรือแผลช้ำยุบตัวเล็กน้อย ต่อมาแผลขยายใหญ่ลักษณะเป็นวงรีหรือวงกลม บริเวณแผลพบส่วนของเชื้อราเป็นตุ่มสีดำขนาดเล็กเรียงเป็นวงซ้อนกัน ในสภาพที่อากาศชื้นจะเห็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อน ซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรค ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ผลเน่า ผลพริกที่เป็นโรคนี้จะโค้งงอบิดเบี้ยวลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง และร่วงก่อนเก็บเกี่ยว
นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทน เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เมื่อสภาพอากาศร้อนจัด และมีฝนตกในระยะนี้ เกษตรกรผู้ปลูกพริกเตรียมรับมือการระบาดของ โรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้ง ซึ่งเกิดจาก (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides, Colletotrichum capsici) โดยสามารถพบได้ในระยะที่ต้นพริกให้ผลผลิต มักพบบนผลพริกที่เริ่มสุกหรือก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสี เริ่มแรกจะพบจุดหรือแผลช้ำยุบตัวเล็กน้อย ต่อมาแผลขยายใหญ่สีน้ำตาลหรือดำ ลักษณะเป็นวงรีหรือวงกลม บริเวณแผลพบส่วนของเชื้อราเป็นจุดสีดำขนาดเล็กเรียงเป็นวงซ้อนกัน กรณีที่สภาพอากาศชื้น จะเห็นเมือกเยิ้มสีส้มอ่อน ถ้าอาการรุนแรง จะทำให้ผลเน่าและร่วงก่อนเก็บเกี่ยว หากพบอาการที่ผลอ่อน จะทำให้ผลพริกโค้งงอบิดเบี้ยวลักษณะคล้ายกุ้งแห้ง สำหรับแนวทางในการป้องกันและกำจัด เกษตรกรสามารถทำได้ ดังนี้ การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือต้นกล้า จากแหล่งที่ปราศจากโรค หรือถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ต้องเลือกจาก ผลพริกที่ไม่เป็นโรค ก่อนเพาะปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20 – 30 นาที ก่อนเพาะปลูก วางระยะปลูกพริกให้เหมาะสม ไม่ปลูกชิดกันเกินไป และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แปลงปลูกมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบผลพริกเป็นโรค เก็บนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค และหากเกษตรกร พบว่าเริ่มมีการระบาดของโรคจะต้องพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น อะซอกซีสโตรบิน 25 % SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80 % WP อัตรา 40 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรคลอราซ 50% WP อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 – 10 วัน และสำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรงควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของโรค และหากเกษตรกรพบการระบาดของโรคดังกล่าว สามารถแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านทันที เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดการระบาดของโรคที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรที่จะได้รับความเสียหาย ซึ่งหากเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้การระบาดของโรคกุ้งแห้งลดลง และผลผลิตไม่ได้รับผลกระทบ
****ภาพ/ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม